ทำไมคนกตัญญูไม่มีวันตกต่ำ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

หลังจากหาคำตอบกับคำว่า กตัญญู ในหลายๆ มิติมาเกือบปี
เหมือนจะเริ่มได้คำตอบและมีประเด็นที่น่าขบคิด
โดยเฉพาะกับตระกูลลูกหลานชาวจีนที่ชอบบอกว่า
คนกตัญญูไม่มีวันตกต่ำ มีแต่จะประสบความสำเร็จ
ทำไมเขาพูดแบบนั้น แล้วมันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ

เริ่มต้นกันที่ความหมายของคำว่ากตัญญู
ความกตัญญู (สำหรับผม)
คือการเต็มใจที่จะตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณ
การเกิดความรู้สึกถึงการขอบคุณผู้อื่น
และอยากทำสิ่งดีๆ ให้แก่ผู้นั้นเพื่อตอบแทน

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกคนบนโลกนี้
ล้วนเติบโตขึ้นมาได้ก็จากความช่วยเหลือของคนอื่น
ดังนั้นทุกคนล้วนมีผู้มีพระคุณ ไม่มากก็น้อย ด้วยกันทั้งสิ้น
การรู้จักติดต่อหาผู้หลักผู้ใหญ่ ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ
พูดคุยปรึกษาเรื่องต่างๆ เป็นทักษะการสื่อสารที่สำคัญ
ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะพื้นฐานที่ต้องมีในการทำงาน

ประเด็นที่หลายคนตั้งคำถาม แม้แต่ผมเองด้วยก็คือ
“ขอบเขต” ของความกตัญญูนั้นอยู่ตรงไหน
ต้อง “เสียสละมากเท่าไหร่” ถึงจะเพียงพอ
ผมมักจะเกิดคำถามนี้ประจำ
เมื่อรู้สึกว่าชีวิตเราควรจะไปได้ดีกว่านี้
ถ้าไม่ต้องลงมาอยู่ที่ตรงนี้
ทุกคนล้วนมีมิติชีวิตที่แตกต่างกัน
บางคนมีสามี มีภรรยา มีลูกที่ต้องดูแล
การจะสูญเสียความฝันทั้งหมดของตน
และคนใกล้ตัวไปกับความกตัญญูนั้น
อาจจะส่งผลลบทำให้คุณกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวได้

การกตัญญู หาใช่การตามใจผู้มีพระคุณทุกสิ่งอย่าง
แต่เป็นการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ
ในขอบเขตที่เรารับได้ ไม่เดือดร้อนตนเองจนเกินไป
ซึ่งจะต้องใช้ตรรกะแยกแยะ จัดลำดับความสำคัญ
ก็คงต้องมีเสียสละกันบ้าง จะเงินหรือจะแรงก็แล้วแต่
ซึ่งสุดท้ายจึงนำมาสู่อีกสองสิ่งที่สำคัญมากในการใช้ชีวิต
คือความสามารถในการตัดสินใจ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ
และความเสียสละความสุขระยะสั้นเพื่อความสบายใจในระยะยาว
มันก็คือความสามารถในการอดกลั้น การอดเปรี้ยวไว้กินหวานนั่นเอง

เรื่องต่อมาที่ผมคิดว่าสำคัญมากเช่นกันคือ “ความอดทน”
การกตัญญูบางครั้งต้องอาศัยความอดทนเอามากๆๆๆ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่เข้าใจกันของคนต่างวัย
ความขัดแย้งทางความคิดที่ต้องหาจุดลงตัวในการอยู่ร่วมกัน
หากขาดความอดทนแล้วคงจะทนอยู่กันไม่ได้ซึ่งก็มีให้เห็นกันอยู่มาก
นอกจากนั้นยังมีเรื่องทักษะการเจรจาต่อรองในครอบครัวอีกด้วยนะ
วุฒิภาวะทางอารมณ์ การรู้จักรับฟัง
พูดคุยหาข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน ต้องจัดการให้เกิดขึ้น
เพื่อให้ครอบครัวใหญ่ยังดำเนินต่อไปได้
เรื่องนี้เล่นเอาหลายๆ คนท้อใจกันมากเท่าที่เห็นมา
แต่ผมอยากขอเป็นกำลังใจนะว่า ใจเย็นๆ ค่อยๆ ทำไปเถอะ
สุดท้ายถ้าทุกคนในครอบครัวยังมีเป้าหมายเดียวกัน
ท้ายที่สุดเพื่อเราพิสูจน์ตัวตนให้เป็นที่ยอมรับได้แล้ว
เขาก็ย่อมต้องปล่อยให้การตัดสินใจเป็นไปในแบบของเรา
โดยมากที่เขายังไม่ปล่อย ก็เพราะเรายังเป็นที่น่าไว้ใจนี่ล่ะ
ต้องกลับมาคิดทบทวนว่า เราจะหาทางพิสูจน์ตัวเองได้อย่างไร
แต่ละครอบครัวก็ยากง่าย แตกต่างกันไป

และท้ายที่สุดผมคงยกให้ทักษะ “ความเป็นผู้นำ”
วันนี้เราวันที่พ่อแม่แก่เฒ่า
คนเคยเด็กอย่างเราต้องขึ้นเป็นผู้นำ
การตัดสินใจ การรับผิดชอบของทุกอย่าง
ถูกยกขึ้นมาวางไว้เป็นบ่าของคนหนุ่มสาวทั้งกระบิ
มันช่างหนักเหลือเกินสำหรับคนที่ไม่เคยแบกอะไรขนาดนี้มาก่อน
ไม่ว่าคุณจะพร้อมหรือไม่ ยังไงคุณก็ต้องแบกมันแล้วล่ะ
และทักษะความเป็นผู้นำนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ที่ต้องการ
ไม่ว่าคุณจำดำรงตำแหน่งใดในองค์กร
องค์กรหัวก้าวหน้า ล้วนต้องการคนที่กล้าคิด กล้าตัดสินใจ
กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ด้วยกันทั้งสิ้น

ที่กล่าวมานี้อาจไม่ใช่ทั้งหมดที่ผมได้รับ แต่ก็เท่าที่นึกได้ ณ ตอนนี้
คุณสมบัติต่างๆ ทักษะการสื่อสาร การเสียสละ การวิเคราะห์
การรับฟัง การเจรจา ความอดทน และความเป็นผู้นำ
ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการอย่างผมมองหาอย่างใจจดใจจ่ออยู่ตลอด
ว่าจะมีพนักงานคนใดในองค์กรของเรา หรือผู้สมัครงานคนใด
เพรียบพร้อมด้วยคุณสมบัติเหล่านี้บ้างหรือไม่
พวกเขาเหล่านั้นย่อมเป็นเพชรเม็ดงามในทีมหากได้มีร่วมองค์กร
คนเหล่านี้จึงสามารถเติบโตในหน้าที่การทำงาน
ได้อย่างไม่ต้องสงสัย

ส่วนตัวผมว่าผมยังโชคดี (อย่างน้อยก็ ณ ตอนนี้)
ที่ภาระที่ได้รับอยู่ในรูปแบบที่ตัวเองถนัด อย่างการบริหาร
อย่างน้อยก็ไม่ต้องเป็นโฟกัสเรื่องคอยไปเอาใจ
ไปคอยพยาบาลคนแก่ ที่ตัวเองเคงจะไม่ถนัดเลย
แต่เชื่อว่าสำหรับคนอื่นๆ ที่เจอบทบาทอื่นๆ
ก็คงต้องตัดสินใจไปในเชิงเดียวกัน
และได้พัฒนาทักษะต่างๆ ไปในแนวทางเดียวกัน

สุดท้ายอยากฝากถึงทุกคน
ที่ต้องแบกรับภาระกระทันหันในแบบที่คาดไม่ถึง
ผมอยากขอเป็นกำลังใจให้ และขอให้มีพลังมองในด้านบวก
การต้องกลับมาดูแลธุรกิจที่บ้าน หรือดูแลคนที่บ้าน
ไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจ หรือไม่เต็มใจก็ตาม
อย่าไปมองว่าเป็นการเสียเวลาชีวิต
หรือเสียโอกาสที่ควรจะได้รับ
ความจริงมันเป็นโอกาสในการได้พัฒนาทักษะด้านอื่นๆ
ที่ก็สำคัญมากในการใช้ชีวิตต่อไปอย่างเติบโตแข็งแรง
แล้วคุณจะได้ใช้ประโยชน์จากมันในอนาคตในรูปแบบที่คาดไม่ถึง

ทั้งหมดนั้นคือเรื่องที่ผมอยากจะเล่าเกี่ยวกับความกตัญญู

ขอฝากถึงบรรดาพ่อแม่
จงอย่าคาดหวังว่ามีลูกเพื่อหวังเป็นที่พึ่งพา
อย่าคาดหวังว่าลูกของคุณจะมีความกตัญญูอย่างลูกคนอื่น
จงพยายามสอนวิธีคิดให้ลูกของคุณพึ่งพาตัวเองได้ในสังคมที่แข่งขันแย่งชิง
ควบคู่กับการสอนให้เขาเป็นคนที่มีจิตใจดีมีความเมตตาต่อผู้อื่น
จงปรารถนาให้เขาประสบความสำเร็จด้วยความรู้ความสามารถของตนเอง
และจงพยายามพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุดก่อนจะไปพึ่งพาผู้อื่น
หากโชคดี ลูกๆ ของคุณจะยินดีกลับมาดูแลพวกคุณยามแก่เฒ่า
แต่หากโชคไม่เข้าข้างเขาไม่กลับมาดูแล อย่างน้อยที่สุด
คุณก็จะไม่ต้องรู้สึกผิดที่ได้ปิดโอกาสการเติบโตของลูกที่คุณรัก
เลี้ยงลูก เลี้ยงให้เติบโต ทั้งร่างกาย และวุฒิภาวะ
ให้เขาออกไปต่อสู้ ฝ่าฟัน และเติบโต

โปรดอย่าจับพวกเขาขังเอาไว้ในกรงทอง
จงปล่อยให้เขาโบยบินออกไปตามความฝัน
แล้วบินย้อนกลับมาเยี่ยมเยียนคุณบ้าง
ในวันที่พวกเขาประสบความสำเร็จ
เท่านั้นก็น่าจะช่วยให้คุณได้ชื่นฉ่ำหัวใจมากแล้ว

Tags: , , ,