TED Talk ของ Jia Jiang ที่เปลี่ยนชีวิตผมไปตลอดกาล
TED Talk นี้เปลี่ยนชีวิตผมอย่างไร?
สมัยตั้งแต่จำความได้ไปจนถึงตอนที่ได้เริ่มทำงานใหม่ๆ ผมเป็นคนที่มีความเป็น Introvert สูงมาก อยู่คนเดียวและปฏิเสธการเข้าสังคม และในขณะเดียวกันก็มีความเชื่อมั่นใจตัวเองสูงเช่นกัน ทำให้เวลามีปัญหา จะพยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเองคนเดียวเสมอมา และด้วยความที่ปัญหาในวัยเด็กนั้นไม่ซับซ้อนนัก ก็เลยสามารถจัดการได้เองตลอด ก็ยิ่งทำให้ความเข้าใจผิดๆ ยิ่งพุ่งขึ้นไปอีก และไม่เคยพูดร้องขอความช่วยเหลือจากใครเลยถ้ามันไม่จำเป็นจริงๆ แถมยังเอางานชาวบ้านมาทำเองอีกต่างหากเพราะขี้เกียจต้องไปเจรจาว่าความ อาจฟังดูไม่เข้าท่า ดูไม่สมเหตุสมผล แต่นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และเป็นจริงเป็นจังมากสำหรับคนที่มีความโลกส่วนตัวสูง นี่คือความแตกต่างของวิธีการคิดของแต่ละคน
มีอยู่วันหนึ่งสมัยเริ่มเรียน ป.โท ไปแล้ว ตอนนั้นเดินมองหาร้านค้าอะไรบางอย่างอยู่ในห้าง แล้วก็เปิด Google Maps ตามหา ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่าสมัยก่อน Google Maps มันไม่ได้มีแผนที่ในห้าง หมุดก็ปักแบบโดยประมาณ เดินเท่าไหร่ก็หาไม่เจอสักที จนเริ่มคิดขึ้นได้ว่า ถ้าเราถามยาม ก็น่าจะได้คำตอบไปนานแล้ว แต่ตอนจะไปถามยาม กลับไม่กล้าเดินเข้าไปถาม เดินผ่านยาม คนแล้วคนเล่า ก็ยังไม่กล้าเข้าไปถาม จนกระทั่งก็ได้เจอร้านที่ตามหาอยู่ด้วยตัวเองจนได้ เรื่องก็จบไป แต่ก็สิ้นเปลืองเวลาเดินหาไปอย่างมาก ในใจก็เริ่มสงสัยแล้วว่า เราต้องมีอะไรผิดปรกติอย่างแน่นอน แล้วถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป จะต้องส่งผลเสียต่อการดำรงชีวิตเป็นแน่แท้
ไม่นานจากวันนั้นก็ได้เจอ TED Talk ชิ้นนี้เข้า ที่พูดถึงปรากฎการณ์ของการกลัวการถูกปฏิเสธ ก็เปิดเข้าไปศึกษาดูแล้วก็ จริงด้วยแฮะ ที่แท้เราเป็นโรคกลัวการถูกปฏิเสธนี่เอง กลัวจะที่ต้องอาย ต้องรู้สึกผิดถ้าทำอะไรผิดพลาด ก็เลยเลือกที่จะไม่เสี่ยงเสียเลยในการพึ่งพาคนอื่น
ความจริง Core Concept ของวิธีการแก้ปัญหาความกลัวก็แค่ “กล้าเข้าไปถาม” ถ้าถูกปฏิเสธกลับมา ก็แค่ถามต่อว่า “ขอทราบเหตุผลหน่อยได้ไหม” แล้วก็ดำเนินบทสนทนาต่อไปอย่างเป็นมิตรให้ได้ เท่านั้นล่ะ เรื่องที่น่าสนใจที่ได้ค้นพบก็คือ คนส่วนใหญ่นั้นเป็นมิตรเสียด้วยซ้ำ คนส่วนใหญ่ล้วนมีความเต็มใจที่จะได้ช่วยเหลือผู้อื่น ขอแค่ให้ได้มีโอกาที่เหมาะสม “การเข้าไปขอความช่วยเหลือ ไม่ได้เป็นการแสดงถึงความอ่อนแอ แต่แท้จริงเป็นวิธีการผูกมิตรชนิดหนึ่ง”
หลังจากนั้นก็เลยตั้งกฎกับตัวเองว่า ถ้าคิดจะทำอะไรแล้ว จะพิจารณาเพียงแค่ว่ามันสร้างเดือดร้อนให้คนอื่นหรือไม่ ถ้าไม่สร้างความเดือนร้อนให้ใคร ก็นับ 1 2 3 แล้วพูดออกไปเลย ที่เหลือค่อยไปตายเอาดาบหน้าละกัน แล้วสัญญากับตัวเองว่า “จะไม่ฝังใจเจ็บกับการตัดสินใจผิด และความต้องรู้สึกเหนียมอาย” เพราะอย่างน้อยก็ดีกว่าต้องมาพูดว่า “รู้งี้วันนั้นลงมือทำไปก็ดีน่ะซิ” เพียงแต่เมื่อพลาดไปแล้ว จะต้องเก็บกลับมาทบทวนว่าขาดข้อมูลอะไรที่ทำให้ตัดสินใจพลาดไป แล้วจะพัฒนาขึ้นไปได้อย่างไรในทุกครั้ง
ก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่โจทย์เดิม การเดินไปถามยามว่าจะไปร้านหนึ่งๆ ในห้างได้อย่างไร ซึ่งก็ได้ลองเอาวิธีการนับ 1 2 3 แล้วลงมือเลยไปทำ ซึ่งแรกๆ ก็ยังคิดมากอยู่ แต่ก็สามารถผ่านไปได้โดยไม่มีอะไรน่ากังวล ยามรู้ก็ได้คำตอบ ถ้าเขาไม่รู้ก็เดินไปถามคนอื่นไปเรื่อย หลังจากนั้นก็ฝึกฝนทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง จนบางทีแค่สงสัยนิดเดียวก็ไม่ลังเลที่จะเดินไปถามทันทีพร้อมพูดคุยกับผู้นั้นต่ออีกนิดหน่อย เพื่อเป็นการฝึกการสนทนาเข้าสังคมไปในตัว พัฒนาทักษะที่ไม่เคยมีมาก่อนเลย
ถึงตอนนี้ก็น่าจะประมาณ 4 ปี แล้วจากวันแรกที่เริ่มเปลี่ยนแปลง ได้เห็น TED-Ed โพสคลิปนี้จึงนึกขึ้นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ รู้สึกเหมือนได้ก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่ที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง แม้ตอนนี้ยังติดความคิดที่ว่ายังไงก็จะลองพึ่งพาตัวเองให้เต็มที่ก่อนจะไปพึ่งพาคนอื่นถ้าเป็นไปได้ แต่ก็เข้าใจแล้วเช่นกันว่า ความจริงมนุษย์เรานั้นอยู่ร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน เพื่อความเจริญก้าวหน้าของสังคมที่พวกเราดำรงอยู่ร่วมกัน ดังนั้นจงเดินหน้าออกไปพูดคุย ตั้งคำถาม และสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่น เพื่อให้ได้รับรู้ถึงความคิด ขยายมุมมองให้กว้างขึ้น และคอยช่วยส่งเสริมผู้ที่ต้องการโอกาส
สุดท้ายต้องขอขอบคุณ Jia ผู้พูด TED ในเรื่อง “What I learned from 100 days of rejection” เทคโนโลยีสร้างและแบ่งปันความสำเร็จให้ผู้อื่นได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักกันเลยจริงๆ