เรียนรู้การใช้ชีวิตจากการปลูกต้นไม้

คำกล่าวที่ว่า.. “การปลูกต้นไม้ ก็คือการเชื่อมั่นในอนาคต”
ฟังดูแล้วก็น่าจะจริง เพราะถ้าไม่เชื่อว่าต้นไม้จะโต ก็คงไม่มีปลูกกันตั้งแต่ต้น

งานอดิเรกอีกอย่างหนึ่งของผมคือการปลูกต้นไม้
เนื่องจากอยู่คอนโด ก็เลยต้องปลูกในกระถาง
พื้นที่จำกัด ต้นไม้เองก็โตได้อย่างจำกัด
ที่ปลูกไปก็ไม่ได้หวังอะไรนอกไปจาก
อยากเห็นมันเติบโตไปในแบบของมัน
อยากรู้ว่ามันจะโตสุดไปได้ถึงไหน เริ่มเสื่อมถอยด้วยสาเหตุใด
จะทำให้มันรอดได้ยังไง และถ้าสุดท้ายไม่รอดก็ด้วยเหตุผลใด

ตอนแรกๆ ที่เริ่มปลูกย้อนไปเมื่อ 5 ปีก่อน
มองว่าต้นไม้ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ก็เลยทุ่มเทดูแลเต็มที่ สุดท้ายก็ตาย เพราะดูแลดีเกิน
วันหนึ่งระหว่างเดินไปขึ้นรถ มองเห็นต้นไม้ที่ขึ้นตามพื้น ตามซอกทางเดิน พวกเจ้าช่างงดงามนัก
ทำไมต้นไม้พวกนี้ไม่มีใครดูแลกลับเติบโตงอกงามได้ แต่ต้นไม้ของเราดูแลอย่างดีกลับตาย
จึงได้เข้าใจว่า ความจริงแล้ว ต้นไม้มันก็คือสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่ต้องพยายามเอาตัวรอดเช่นกัน
เพียงแต่ว่ามันเคลื่อนที่ไม่ได้ มันเดินไม่ได้ เราแค่ต้องเข้าใจว่า มันต้องการอะไรบ้าง
แล้วเอาไปให้ตามที่มันต้องการ ก็แค่นั้น ถ้าดูมันแข็งแรงปรกติดี ก็ปล่อยมันอยู่ของมันไป
เช่น ถ้าใบเหี่ยว แปลว่ามันต้องการน้ำ ก็รดน้ำให้ต้นไม้เสียหน่อย

หลังจากนั้นจึงเริ่มประสบความสำเร็จในการปลูกต้นไม้
ต้นไม้ที่ปลูก ยาวขึ้น ยาวขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งยาว ยิ่งสนุก
จนสุดท้าย ยาวเลยเพดานห้องของเราไปโผล่ห้องข้างบน
ก็เลยต้องตัดทิ้งในที่สุด แต่จังหวะนั้นโคนต้นไม่มีใบแล้ว
การตัดจึงทำให้เจ้าต้นนั้นตายไปตามระเบียบ

จึงได้เรียนรู้ว่า บางสถาการณ์ มีความจำเป็นต้องคอยควบคุมการเติบโตเพื่อที่จะได้อยู่ต่อไป
โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่ๆ ไม่พร้อมให้เติบโต
การเป็นต้นไม้อาจเลือกกระถาง เลือกเจ้าของไม่ได้
แต่เกิดเป็นคน อาจพอเลือกที่เลือกทางได้อยู่บ้าง
ถ้ามีโอกาส ก็จงเลือกที่ๆ ได้โอกาส ได้เรียนรู้ ได้เติบโต
เลือกเจ้านาย เลือกบริษัท ที่มีกระถางใบใหญ่ขึ้น มีพื้นที่แนวสูงมากพอ
พร้อมให้เราเติบโต ทั้งทางด้านความสามารถ ทั้งทางด้านความรับผิดชอบ

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เจอมาตลอดเมื่อปลูกต้นไม้ไปได้สักพักก็คือ เพลี้ย
ทุกครั้งที่ปลูกต้นไม้ พอมาถึงจุดนี้ ก็ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดมา
เคยเชื่อว่า ถ้าเพลี้ยขึ้น ถ้าต้นไม้เราดีจริง มันจะรอดของมันได้
ก็เลยปล่อยเลยตามเลย สุดท้าย ต้นทั้งต้นมีแต่เพลี้ย แล้วก็หงิกตายไปในที่สุด
บทเรียนนั้นทำให้ขยาดเพลี้ยมาก เจอกันครั้งต่อมา จึงซ้ำยามาฉีด
สมุนไพรที่มีขายตามห้าง ไม่ได้ผลซะจนคิดว่านี่มันน้ำใส่กลิ่นเฉยๆ หรือเปล่า
สุดท้ายเลยจัดสารเคมีให้ ทีนี้ตายหมด ทั้งเพลี้ย ทั้งต้นไม้
(รวมถึงคนฉีกก็โดน Damage ไปด้วย)

เมื่อไม่กี่เดือนมานี้คิดทบทวนขึ้นมาใหม่
ต้นไม้เติบโตจากสารอาหารที่ได้จากดินขึ้นมาทางราก
ถ้าสารอาหารที่ได้มากเกินพอสำหรับต้นไม้ มันก็จะเติบโต แตกกิ่งก้านสาขา
ถ้าสารอาหารที่ได้ไม่พอสำหรับจะเลี้ยงกิ่ง เลี้ยงใบ ส่วนตรงนั้นก็จะเสื่อมลงและตายไป
เพลี้ยที่มาเกาะกินตามกิ่งตามใบ จะทำให้สารอาหารที่ส่วนบริเวณนั้นได้รับน้อยลง
แต่ถ้ายังไม่ถึงจุดที่สารอาหารยังไม่พอ ต้นไม้ก็จะยังไม่ตาย

ดังนั้นที่ต้องทำ ไม่ใช่การประกาศสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพลี้ย
แต่มันคือการคอยดูสุขภาพของต้นไม้ของเรา ว่ามีเพลี้ยมากเกินไปแล้วหรือไม่
ดังนั้นต้องคอยดูให้มั่นใจว่าเพลี้ยขึ้นในส่วนที่เราอนุญาตให้มันขึ้นได้
โดยปรกติต้นไม้จะมีใบเก่าใบใหม่ มีกิ่งเก่า กิ่งใหม่
ถ้าเก่ากิ่งมีมาก กิ่งใหม่จะไม่เกิด จึงต้องตอนตัดกิ่งเก่า ใบเก่าทิ้ง
ดังนั้น ถ้าเพลี้ยขึ้นที่กิ่งเก่า เราปล่อยมันขึ้นไป แต่ถ้าขึ้นที่กิ่งใหม่ ต้องจัดการคอยกำจัดออก
พอกิ่งเก่าเริ่มแห้ง สารอาหารไปทางนั้นก็น้อยลง
เพราะรากมีเท่าเดิม สารอาหารก็เหลือมากิ่งใหม่ก็เพิ่มขึ้น เติบโตได้มากขึ้น
ถึงจุดหนึ่งกิ่งใหม่เติบโตดี พร้อมทดแทนงานที่กิ่งเก่ารับผิดชอบมาตลอด
ก็ตัดกิ่งเก่าออกไปไปพร้อมกับเพลี้ย แล้วเอาไปตากแดดเผาระบายเค้นพวกเพลี้ยให้หนำใจ
ต้นไม้ก็จะมีกิ่งใหม่ที่แข็งแรงออกมาเรื่อยๆ หมุนเวียนเป็นวัฎจักร
และต้นก็จะไม่โตยืดยาวจนเราต้องจำใจตัดทิ้งเอง

จึงถือเป็นการรักษาสุมดุลระหว่างการปลูกต้นไม้ให้โต และใช้เพลี้ยควบคุมการเติบโตไปพร้อมๆ กัน
แม้จะมีศัตรพืชคอยระราน แต่ต้นไม้ก็ยังสุขภาพแข็งแรง อยู่ออกดอกให้ดูต่อไปได้อีกนาน

Tags: , ,