ตกผลึกความคิดจากหนังสือ ชีวิตไม่ติดกับ กำจัด 7 กับดักขวางความสำเร็จ

สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความตกผลึกความคิดจากหนังสือของผมเอง spicydog

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมเข้าช่วงลำบากของชีวิตนิดหน่อย เล่นเอามุมมองความคิดเขวไปหมด แฟนผมก็เลยแนะนำหนังสือเล่มนึงมาให้ผมอ่านเพื่อเติมพลังใจ นั่นก็คือเรื่อง ชีวิตไม่ติดกับ กำจัด 7 กับดักขวางความสำเร็จ (Trap Tales : Outsmarting the 7 Hidden Obstacles to Success) ที่จะมาเล่าให้ฟังวันนี้นั่นเอง

หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นถึง 7 กับดักการชีวิตยอดฮิต ที่คนมักจะติดกัน แล้วกลายเป็นอุปสรรคฉุดรั้งความสำเร็จ ที่เขาเรียกเป็นกับดักนั้นก็เพราะว่า ลักษะของมันไม่แสดงตัวว่ามีพิษมีภัยอะไร แต่เมื่อเราพลาดเข้าไปติดแล้ว ก็จะวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ในนั้น กว่าจะรู้ตัวว่าติดกับอยู่ กว่าจะปรับเปลี่ยนนิสัยที่มีปัญหาได้ ก็อาจจะทำให้เสียเงิน เวลาเสีย เสียความรู้สึก จนไปถึงสูญเสียความสัมพันธ์ที่ดีไป ซึ่งในหนังสือก็ได้แนะนำและอธิบายซะจนเห็นภาพ ชี้ให้คอยสังเกต คอยระวัง ชี้แนวทางการแก้ปัญหา ไปจนถึงวิธีการเอาไปใช้งานจริงและส่งต่อความรู้ด้วย

ซึ่งหนังสือเล่มนี้ผมอ่านดูแล้ว นอกจากจะได้คำเตือนสติต่างๆ แล้ว ยังได้มอบพลังบวกออกมาให้ด้วย จนในที่สุดผมก็เริ่มกลับมาปรับการใช้ชีวิตให้เข้าที่เข้าทางอย่างเดิมได้สำเร็จ

เนื่องจากผมเองก็อยากจดบันทึกสรุปเนื้อหาที่ได้จากหนังสืออยู่แล้ว ก็เลยถือโอกาสเขียน Blog แบ่งปันความรู้ในหนังสือเล่มนี้เสียเลยละกัน แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ ขออนุญาตเอานำประสบการณ์และมุมมองของตัวเองใส่เข้าไปประกอบด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองวิธีคิดกัน

เราอย่ามัวแต่อารัมภบทอยู่เลย เริ่มเข้าเนื้อหากันเลยดีกว่าครับ 🙂


กับดักที่ 1 : กับดักความสัมพันธ์ – ทำตัวเหมือนคนโสดที่แต่งงานแล้ว

ในสังคมของเรา ประกอบด้วยคนจากร้อยพ่อพันแม่ คนเรานั้นล้วนต่างกัน มาจากต่างครอบครัว ได้รับการสั่งสอนเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน ใช้ชีวิตเติบโตขึ้นมาจากกลุ่มเพื่อน และมีวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน แต่เมื่ออยู่ในสังคมเดียวกัน จึงต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน

แต่การคบคู่รักกับการคบเพื่อนนั้นต่างกัน สำหรับเพื่อน เราอาจจะเจอกัน ใช้ชีวิตร่วมกันแค่บางช่วงเวลา แต่สำหรับคู่รัก แม้ลองผิวๆ แล้วความจริงก็คือเพื่อนกัน แต่เราใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมากซะจนแทบจะเป็นคนเดียวกัน กิน อยู่ หลับ นอน ร่วมกันเป็นสิบๆ ปี

ดังนั้น การใช้ชีวิตคู่และการรักษาความสัมพันธ์ให้ดีจึงเป็นเรื่องละเอียดละออมาก เมื่ออยู่ด้วยกันนานเข้าๆ หลายครั้งก็อาจรู้สึกชะล่าใจในความสัมพันธ์ จนลืมกันที่จะเกรงอกเกรงใจ ลืมที่จะใส่ใจกัน ลืมว่าความจริงอีกคนก็อาจจะคิดไม่เหมือนกัน จึงไม่ต้องแปลกใจเลยที่จะได้เห็นคู่รักจะทะเลาะกันอยู่เรื่อย แล้วไม่นานก็กลับมารักคืนดีกันใหม่ วนไปทั้งชีวิต

คู่รักมีความคิดที่ขัดแย้งกันเป็นเรื่องปรกติ เพราะชีวิตก่อนที่จะเจอกันนั้นแตกต่างกันอยู่แล้ว หลายคู่ไม่เข้าใจและยังคงเป็นคนโสดในแบบของตัวเอง ไม่สามารถปรับมุมมอง และไม่สามารถเข้าถึงความคิดของอึกฝ่ายได้ บางครั้งเชื่อว่าสิ่งที่ตนเป็นอยู่นั้นดีอยู่แล้ว เธอนั่นล่ะที่จะต้องเปลี่ยนแปลง หรืออย่างน้อยถ้าฉันจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อเธอยอมเปลี่ยนก่อน ซึ่งนั่นไม่ใช่ชีวิตคู่ที่สุขภาพดี

ปัญหาหลักๆ ของคู่รักมักจะมีอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ การเงิน การเลี้ยงดูลูก และงานบ้าน

เรื่องการบริหารเงินและทรัพยากรที่ต้องใช้ร่วมกันเป็นเรื่องที่คู่รักจะต้องเจออยู่แล้ว เมื่อต่างคนต่างมีมุมมองต่างวิธีคิด ย่อมมีวิธีการบริการเงินที่แตกต่างกัน คนหนึ่งพวกชอบสะสมของ ส่วนอีกคนเป็นพวกชอบสะสมเงิน ถ้าชีวิตราบเรียบไร้การใช้จ่าย คนแรกก็ย่อมมีปัญหา เมื่อไหร่ใช้จ่ายมากเข้าเข้า คนหลังก็ย่อมมีปัญหา โดยเฉพาะในเวลาที่สถานะการเงินในครอบครัวไม่สู้ดีนัก ก็ไม่ต้องแปลกใจเลยที่ว่าจะลงเอยด้วยกันทะเลาะผิดใจกัน

เรื่องการตกลงวิธีการเลี้ยงดูลูกก็เป็นอีกปัญหาใหญ่ จะว่าไปแล้ว ลูกเป็นเหมือนความหวังของทั้งสอง ทั้งสองจึงใส่ (จนบางครั้งถึงขั้นยัดเยียด) ความคาดหวังของตนเองลงไปในตัวลูก แล้วถ้าทั้งสองมีเป้าหมายไม่ตรงกัน แต่ทรัพยากรลูกมีอยู่อย่างจำกัด แล้วไม่มีใครยอมใคร ก็ย่อมทำให้เกิดปัญหาในครอบครัว

สุดท้ายคือปัญหาที่ดูเหมือนเล็กน้อยแต่เกิดขึ้นในวงกว้างมากในสมัยนี้ ก็คือเรื่องการแบ่งกันทำงานบ้าน สังคมสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อนแล้วที่ผู้หญิงจะอยู่บ้านเลี้ยงลูกและดูแลงานบ้าน ทุกวันนี้ผู้หญิงเกินครึ่งก็ต้องออกไปทำงานนอกบ้านเช่นกัน แล้วในเมื่อทั้งคู่ก็ออกไปทำงาน หาเงินเข้ามาใช้จ่ายร่วมกัน การยกภาระงานบ้านเป็นของผู้หญิงคนเดียวจึงไม่สมเหตุสมผลเลย มันคือการเอาเปรียบกันรูปแบบหนึ่ง เว้นแต่ว่าตกลงกันแล้วว่าจะเป็นเช่นนั้น

นอกจากปัญหาที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว สมัยนี้อะไรๆ ก็รวดเร็ว เราได้เห็นตัวอย่างของการหย่าร้างเป็นเรื่องธรรมดา เราเห็นการแยกกันอยู่เป็นเรื่องธรรมดา หลายคู่รักเวลามีปัญหาจึงแยกกันอยู่ซะเลยเพื่อตัดปัญหา คือยังรักกันลึกๆ แต่รู้สึกเข้ากันไม่ได้ก็หลีกห่างออกมาหน่อย เราไม่มีความจำเป็นจะต้องตัวติดกันนะ ต่างคนก็ต่างทำงานได้ แยกกันอยู่ นานๆ เจอกันทีก็สบายดี

นอกจากนั้นโอกาสในการเจอคนใหม่ๆ ที่ถูกใจก็ง่ายขึ้นมาก เพราะโลกออนไลน์เชื่อมคนทั้งโลกเข้าด้วยกันหมดแล้ว บางทีมีปัญหาความสัมพันธ์กันแล้ว เซ็งๆ ไปไถโทรศัพท์มือถือดูแปบเดียวก็อาจจะทำให้จิตใจที่มั่นคงไขว้เขวได้ง่ายๆ

ในหนังสือเปรียบชีวิตแต่งงานเหมือนการเล่นกีฬาแบบลาน สมัยที่เราอยู่คนเดียว มันคือกีฬาแบบลู่ ที่ต่างคนต่างวิ่งแข่งกันไปให้ถึงเส้นใจ แต่หลังแต่งงานแล้ว ต้องใช้ชีวิตร่วมกัน เราจะต้องทำงานกันเป็นทีม จึงต้องเปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิตเสียใหม่

เรื่องนี้ความจริงไม่มีใครถูกใครผิด อย่างที่บอกว่าทุกคนล้วนแตกต่างกัน ดังนั้นทั้งสองคนจึงจำเป็นต้องเข้าใจความต้องการของอีกฝ่าย แล้วกำหนดเป้าหมาย ข้อตกลงกัน ได้อย่างเปิดใจ เพื่อจะได้เดินทางร่วมกันได้

โดยทั่วไปแล้วคู่รักจะมองหาและส่งเสริมสิ่งที่ทั้งสองเข้ากันได้ และพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เรื่องนี้ต้องระวัง เพราะมันไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน มันเป็นเพียงการเอาปัญหาไปซุกไว้ใต้พรม

คู่รักที่ดีจะสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันสำหรับความสัมพันธ์ที่ทั้งสองอยากจะให้เป็น เปิดใจพูดคุยกันว่าจุดไหนที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย อย่างไร และสร้างกฎเกณฑ์ ข้อตกลง ขึ้นมาใช้ในยามต้องตัดสินใจเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน

สุดท้ายคือเราต้องมีความเมตตาต่อคู่รักของเราเสมอ ความจริงเราไม่จำเป็นต้องทำอะไรให้ยุ่งยากซับซ้อน เพียงแค่ทั้งสองคนต่างเห็นอกเห็นใจกัน มีจิตใจแห่งการบริการ ควบคู่ไปกับมีความเกรงใจกัน ไม่เอาเปรียบกัน คอยช่วยเหลือ เป็นที่พึ่งของอีกฝ่ายได้เสมอ เพียงเท่านี้เส้นทางชีวิตคู่ก็จะราบรื่นแล้ว

ฟังดูพูดง่ายแต่ทำไม่ง่ายนะ ให้ระวังวันที่คนเหนื่อยอารมณ์บูดมาเจอกัน ถ้าเกิดเหตุการณ์คนเหนื่อยมาเจอกันก็ต้องสร้างข้อตกลงกันว่าจะแยกย้าย หรือจะยังไง ถ้าเหนื่อย ก็ไปนอนซะก็ได้ หายเหนื่อยแล้วค่อยกลับมาคุยกัน

ใช้ชีวิตคู่ ไม่เหมือนอยู่คนเดียว ต้องมีสติให้มากขึ้น

https://unsplash.com/photos/Dy2s6bSpp90

กับดักที่ 2 : กับดักการเงิน – ทรายดูดแห่งหนี้สิน

ในสังคมที่บริโภคแข่งกัน ที่ผู้คนพยายามจะมีสิ่งของมาครอบครองเพื่อให้ดูทัดเทียมกับผู้อื่น ยิ่งเจอสังคมออนไลน์ขี้อวดอย่างทุกวันนี้ ยิ่งกระตุ้มต่อมความน้อยหน้ารุนแรงขึ้นไปอีก

แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีรายได้เท่ากันที่ไหนกันล่ะ ทุกคนฐานะต่างกัน จะไปมีของเท่ากันหมดย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ยังเห็นคนก็พยายามจะทำกันให้ได้ ประสานกับเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อและบัตรเครดิตที่แสนจะง่าย ฝ่ายโฆษณาและการตลาดที่จะเก่งเหลือเกิน เรื่องเงินจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ของคนจำนวนมากอย่างที่เราได้เห็นกัน

ปัญหาจากความอยากมีอยากใช้ ก็เรื่องหนึ่ง แต่ผมมองว่า ต้นตอที่แท้จริงน่าจะเกิดจากการมองไม่เห็นภาพใหญ่ของเรื่องจัดการเงินเสียมากกว่า

ผู้คนจำนวนมากมีสายตาสั้นทางการเงิน มองเพียงแค่ว่า มีเงินเข้ามาก็ใช้ไป หาความสุขไป ตายไปก็ไม่ได้ใช้แล้ว แต่ลืมถามคำถามไปว่า แล้วถ้าไม่ตายไวอย่างที่คิด หรือเกิดปัญหาทำงานไม่ได้ขึ้นมาล่ะ หรือโชคร้ายอยู่ๆ ก็มีภาระค่าใช้จ่ายก้อนโตที่จำเป็นต้องใช้ขึ้นมาล่ะ คุณจะทำอย่างไร คุณได้คิดถึงสถาการณ์ทางการเงินที่เลวร้ายที่สุดเอาไว้แล้วหรือยัง?

พอคนเราใช้ชีวิตอยู่กับแค่เงินที่อยู่ตรงหน้าที่ถืออยู่ ก็จะใช้จ่ายอุปโภคบริโภคอย่างเกินตัว หนี้สินจากการบริโภคจึงเกิดขึ้น และเมื่อนั้นล่ะจึงติดกับดักที่ยากจะหลุดออกไปได้

เรื่องสถานะทางการเงินนั้น ถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

1) การเป็นหนี้ หนี้ที่ผมพูดถึงนี้คือหนี้ที่เกิดจากการบริโภค ไม่ใช่หนี้ที่เกิดจากการลงทุนทำธุรกิจอย่างตั้งใจ อย่างรู้แจ้งถึงความเสี่ยง ที่จะส่งผลให้เราได้กำไรงอกเงยกลับมาภายหลัง

หนี้ที่เกิดจากการบริโภค คือหนี้ที่เกิดจากความอยากมีอยากได้ แต่เงินที่มีไม่พอ จึงไปกู้ยืมมาใช้สอย แล้วสิ่งที่ซื้อมานั้นดันไม่ก่อให้เกิดรายได้ กลายเป็นเงินจม

นอกจากเงินจะหายไปแล้ว เรายังลืมนึกถึงฆาตกรตัวจริง มันคือดอกเบี้ยนั่นเอง ยิ่งผ่อนน้อย ยิ่งจ่ายนาน แต่รวมกันแล้วก็จะยิ่งจ่ายเยอะ

สถาบันการเงินมักให้แบ่งงวดชำระคืน ให้เราไม่รู้สึกว่ามันเบียดเบียนชีวิตเรามากนัก แต่มันก็แค่ในช่วงเริ่มต้น ถ้ามีความอยากอีก เราไปผ่อนก้อนต่อไปอีก ค่างวดก็จะเพิ่มมากขึ้นอีก

ไปจนถึงจุดหนึ่ง ค่างวดก้อนเล็กๆ หลายๆ ก้อน ที่ยังใช้คืนไม่หมด ก็จะรวมกันเป็นก้อนใหญ่ขึ้นๆ แล้วเราชำระคืนแค่เดือนละครั้ง มันเป็นภัยเงียบที่หลายคนไม่รู้ตัว จะมารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่เริ่มมีเงินใช้แค่เดือนชนเดือน เริ่มขยับตัวไม่ได้แล้ว

ยิ่งสถาการณ์ที่เครดิตเข้าถึงได้แบบนี้ แถมโฆษณาล่อตาล่อใจเยอะขนาดนี้ เวลาใช้เงินก็ไม่ต้องจับเงินสด กดๆ บนหน้าจอมือถือแบบนี้ ยิ่งต้องระวังให้หนัก ต้องไตร่ตรองให้ดีว่าสิ่งที่ใช้จ่ายไปนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต้องทำหรือไม่

ดังนั้นทางที่ดี เราต้องมีการทำบัญชีสำรวจทรัพย์สินและหนี้สินอยู่อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยก็จดไว้ทุกเดือนก็ยังดี ต้อให้ดูย้อนหลังได้ด้วยนะ จะได้ดูว่ามีหนี้ก้อนไหนจ่ายมาก จ่ายน้อย ดอกเบี้ยเป็นอย่างไร จะหาทางปิดอันที่ดอกเบี้ยมากอย่างไรได้บ้าง (Refinance) แล้วจึงตั้งใจขยันทำงานรีบๆ ใช้หนี้ให้หมดๆ ไป

เวลาจะซื้อของ เก็บเงิน รอหน่อย ได้ไหม เงินส่วนต่างที่ต้องจ่ายไปกับดอกเบี้ย เอามาใช้เองไม่ดีกว่าหรือ จะเอาไปให้คนอื่นใช้แทนทำไมกัน

ไม่ว่าฐานะทางการเงินคุณจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มซื้อของที่ไม่จำเป็น คุณก็เตรียมตัวขายของที่จำเป็นเอาไว้ได้เลย

2) การเก็บออม มีเงินเก็บ หลังจากหมดหนี้กันแล้ว ก็ควรเริ่มเก็บออม เงินที่เหลือจากการใช้จ่าย เอาไปเก็บสะสมไว้ในที่ปลอดภัย เก็บเอาไว้เป็นทุนการศึกษาให้ลูกๆ และให้มั่นใจว่าจะสามารถพึ่งพาตัวเองได้แม้จะต้องเจอมรสุมชีวิต

เราต้องใช้หนี้ก่อนเริ่มเก็บออมอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนะ เพราะว่าดอกเบี้ยที่ได้จากการออมแล้วเทียบกับดอกเบี้ยที่เป็นหนี้ไม่ได้เลย นอกจากนั้นคือเงินยืมเขามาก็ต้องคืน อย่าไปเอาเปรียบผู้อื่น

3) การลงทุน ท้ายสุดคือการลงทุน เมื่อมีเงินออมเป็นก้อนแล้ว มากพอสำหรับรองรับสถาการณ์ฉุกเฉินแล้ว ก็ควรใช้เงินไปทำงาน แบ่งเงินไปไว้ในที่ที่มันงอกเงย เช่น สินทรัพย์ที่จะมูลค่าเติบโต หุ้น กองทุน และอื่นๆ ตามตนมีความรู้ความเข้าใจในความเสี่ยง “อย่างแท้จริง”

มาถึงตอนนี้ล่ะ ดอกเบี้ยที่เคยทำร้ายในยามที่เราเป็นหนี้ มันจะกลับมาเป็นตัวที่ทำให้เงินเรายิ่งงอกเงย แล้วมันจะพาเราไปสู่ความเป็นอิสระทางการเงินในที่สุด

มันดีถึงขนาดที่ว่า เราเป็นอิสระ อยากทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องใช้เวลา ใช้แรงงานไปแลกเงิน จะตกงาน จะหยุดพัก ก็ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ อิสระทางการเงินเริ่มจากการอดออมและการลงทุน

มันไม่มีใครมาบริหารเงินให้เราแทนทั้งชีวิต มาบอกเราว่าห้ามซื้อนั่น ห้ามซื้อนี่นะ แล้วเราก็เชื่อเขา สิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินของขึ้นมาเอง

เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากให้ทุกคนระวังให้มากเลยคือการเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ ของรางวัลที่กระตุ้นให้เราออกไปจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะคะแนน และของแถมจากบัตรเครดิต เรื่องนี้เป็นดาบสองคม

ถ้าหากเราเป็นคนใช้ถึงยอดที่กำหนดอยู่แล้วเป็นปรกติ ในกรณีนี้ก็เหมือนเราได้ของมาฟรีๆ ก็ไม่มีปัญหา แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าปรกติแล้วเราใช้ไม่ถึง อาจจะใกล้ถึง หรืออยากหน้าใหญ่ กรณีนี้มันจะกระตุ้นการใช้จ่ายซื้อของที่ไม่จำเป็น จากความรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ของฟรี

แต่ถ้าพิจารณาให้ดี ไม่แน่นะ อาจจะกลายเป็นเราได้ของที่ไม่จำเป็น 2 ชิ้นมาสะสมเอาไว้เพิ่มที่บ้านก็ได้ ชิ้นที่ได้มาฟรีๆ จากโปรโมชั่น และอีกชิ้นที่เราเสียเงินจ่ายไปเองแบบมึนๆ ถึงมันอาจทำให้รู้สึกคุ้มค่าในช่วงแรก รู้สึกได้รับชัยชนะ แต่สุดท้ายชัยชนะที่ได้เป็นของคนทำการตลาด ไม่ใช่คนที่ใช้จ่ายแล้วได้ของแถม เพราะเขาสามารถทำให้คนยอมควักเงินซื้อของได้อย่างเต็มใจ อย่างเก่งก็ได้ win-win ในกรณีที่เป็นของที่เราจะต้องใช้อยู่แล้ว

ที่เล่ามาทั้งหมดไม่ใช่จะบอกว่าให้ทุกท่านขี้เหนียวไม่ใช้จ่ายซื้อของอะไรเลย ไม่อย่างนั้นเศรษฐกิจของเราคงต้องพังพินาศเป็นแท้ ผมเพียงแต่อยากให้มีสติพิจารณาให้มากขึ้นว่าของที่จะซื้อมีความจำเป็น หรือช่วยให้ชีวิตดีขึ้นจริงๆ หรือไม่

ขอให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันทางการเงินที่แข็งแรงครับ


กับดักที่ 3 : กับดักโฟกัส – วิตกกับเรื่องรกสมอง

เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และ Social Network เปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้เราเขียนระบายความในใจ ติดต่อกับเพื่อนๆ และติดตามข่าวสารต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลก อัพเดทส่งตรงมาถึงหน้าจอโทรศัพท์ทันทีผ่านทางโลกออนไลน์

แต่เรารับข้อมูลข่าวสารมากเกินไปหรือเปล่า ทุกอย่างที่วิ่งเข้ามา เราจำเป็นต้องใช้พลังงานในการอ่าน ในการคิดพิจารณา ยิ่งยุคข่าวปลอมระบาดที่ยิ่งเหนื่อย เร้าทั้งความคิด เร้าทั้งอารมณ์ ทำให้คนปัจจุบันนี้สิ้นเปลืองพลังการอยู่หน้าจอมือถือไปอย่างมาก

พวกเราส่วนใหญ่เลือกที่จะเสพข้อมูลตามที่ Social Network ได้จัดสรรมาให้ผ่านทางประวัติการใช้งานที่ผ่านมา เมื่อระบบค้นพบว่าเราชอบสิ่งใด มันก็จะไม่รีรอเลือกเนื้อหาที่เราสนใจขึ้นมาให้เสพในทันที พยายามทำยังไงก็ได้ให้เราใช้เวลาอยู่กับมันให้มากที่สุด

ปัญหามีอยู่ว่า โลกอินเทอร์เน็ตมักเต็มไปด้วยเรื่องรกสมอง เรื่องที่เราไม่ต้องรู้ก็ได้ หรือเรื่องที่ต่อให้รู้ไปก็ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้น ตอนเสพอาจจะให้รางวัลความสุขนิดๆ หน่อยๆ แต่ในท้ายที่สุดก็ไม่ได้เป็นความสุขที่ยั่งยืน หรือหาประโยชน์ไม่ได้เลยตั้งแต่ต้น

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความรวดเร็ว การได้ทุกอย่างมาอย่างทันทีทันใด ทำให้เราคาดหวังว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นทันที ทำให้เราขาดความอดทน รอไม่เป็น ลืมไปว่า ความจริงแล้วชีวิตต้องใช้เวลา ไม่รู้จักการจับจังหวะ ที่อาจทำให้ต้องพลาดโอกาสสำคัญๆ โดยเฉพาะกับเรื่องบางเรื่องที่ต้องช้า แต่เรากลับไม่สามารถอดทนรอได้

เราต้องเข้าใจว่า พลังงานของเราในแต่ละวันมีอย่างจำกัด เราจำเป็นจะต้องเลือกโฟกัสการใช้พลังงานไปกับเรื่องที่สำคัญ และตัดสิ่งที่ไม่สำคัญออกไปจากชีวิต

ลองแบ่งเวลาสัก 5-10 นาที ต่อวัน เพื่อนั่งอยู่เฉยๆ หยุดรับข้อมูลข่าวสารเข้าสมอง แล้วพิจารณาถึงการกระทำของเราในแต่ละวันดู

มีอะไรบ้าง ที่เป็นเรื่องสำคัญ ที่เมื่อได้ลงมือทำแล้ว จะเกิดประโยชน์ต่อชีวิต และเราจะพัฒนามันให้ดีขึ้นไปอีกได้อย่างไร

มีอะไรบ้าง ที่ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญ แต่เราทำมันอยู่เป็นประจำ มันเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต แต่เราทำมันจนเป็นนิสัยไปแล้ว เราจะมีวิธีการอย่างไรที่จะเลิกนิสัยดังกล่าว

มีอะไรบ้าง ที่เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่เรายังไม่ได้ทำ เราจะบริหารความคิด บริหารเวลาอย่างไร ให้เราได้ทำเรื่องสำคัญนั้น ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

ลองติดตั้งโปรแกรมที่เอาไว้จับเวลาการใช้งานแต่ละ Application บนโทรศัพท์มือถือของคุณดู แล้วเอามาพิจารณาดูซิว่า เราจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤษติกรรมการโทรศัพท์มือถือได้อย่างไรได้บ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์บ้างขึ้น

ลองพกหนังสือเล่มเล็กๆ ใส่ติดกระเป๋าเอาไว้ตลอด ตั้งภาพ Wallpaper บนโทรศัพท์มือถือ คอยเตือนให้หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน แล้วทุกครั้งที่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมา แล้วพบว่าหยิบโดยเป็นนิสัย ไม่ได้เป็นเรื่องจำเป็น คุณก็วางมันลงเสีย หยิบหนังสือขึ้นมาอ่านแทน แล้วคุณจะทึ่งว่าคุณเป็นคนที่อ่านหนังสือได้มากเพียงใด แล้วมุมมองการใช้ชีวิตจะเปลี่ยนตาม

ความจริงแล้วโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตเน็ตเป็นเพียงอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวก โดยเริ่มต้นตัวมันเองถูกออกแบบมาเพื่อใช้ทำงานเสียด้วยซ้ำ แต่ในภายหลังมันถูกนำมาใช้เพื่อความบรรเทิงที่ไม่สำคัญ โชคร้ายที่ว่า แบบหลังนี้ถูกโฉลกกับสมองของมนุษย์เอาเสียมากๆ

บางครั้ง ถึงแม้มันจะยากที่จะแยกแยะว่าสิ่งไหนสำคัญ สิ่งไหนไม่สำคัญ บนโลกอันแสนจะวุ่นวายนี้ แต่คุณก็ต้องฝึกที่จะแยกแยะมันให้ได้อยู่ดี เพื่อเราจะได้ใช้ชีวิตได้อย่างที่เราต้องการจริงๆ ให้ได้มากที่สุด

ลองถามตัวเองดูอยู่เรื่อยๆ นะครับว่า ฉันมัวแต่คิดถึงแต่เรื่องรกสมองหรือเปล่า แล้วถ้าไม่ทำสิ่งที่ทำอยู่ มีอะไรที่ฉันควรจะทำมากกว่านี้ เพื่อให้มีชีวิตที่ดีกว่าในอนาคตที่จะมาถึง

Push Notification Marketing

กับดักที่ 4 : กับดักการเปลี่ยนแปลง – ผัดวันประกันพรุ่ง ฆาตกรที่ฆ่าการเติบโตและการเปลี่ยนแปลง

เป็นสัญชาติญาณของสมองที่จะเลือกใช้ชีวิตอยู่ที่เดิมสบายๆ เพื่อประหยัดพลังงานในการคิด แต่คนเราจะก้าวหน้าได้ การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็น

แต่ด้วยเหตุผลด้านสัญชาติญาณ ทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก หลายครั้งมันอาจสร้างความเจ็บปวดและอึดอัด โดยเฉพาะต้องยอมรับความจริงและเปลี่ยนแปลงมุมมองที่เคยมี คนส่วนใหญ่จึงพยายามเลื่อนการเปลี่ยนแปลงออกไป เพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในสภาพที่สบายๆ ไปก่อน

ปัญหามีอยู่ว่า เวลาเดินไม่เคยหยุด โลกมันก็เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ผู้คนทั่วโลกมีความเคลื่อนไหว ดังนั้นหากเราอยู่เฉยกับที่ ก็ไม่ต่างอะไรจากการก้าวถอยหลัง

มันไม่จำเป็นจะต้องวิ่งไล่ตามคนอื่นให้ทันเสมอไป แต่เราจำเป็นเรื่องจำเป็นที่จะรู้ตัว และเริ่มเปลี่ยนแปลงก่อนเพื่อเอาตัวรอดให้ได้ทัน

หากสังเกตดูให้ดี เราจะเห็นคนเปลี่ยนแปลงอยู่สองประเภท ประเภทแรกคือ คนที่เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองให้สอดคล้องกับเป้าหมายชีวิต กับอีกประเภทที่โดนบังคับให้เปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด

คนประเภทแรกเข้าใจว่า ถ้าเขาไม่เปลี่ยนแปลงในวันนี้ ในวันข้างหน้า โลกจะเปลี่ยนแปลง จึงเลือกที่จะเหนื่อยในวันนี้ เพื่อให้ตัวเองได้มีอิสระ ได้มีทางเลือกมากขึ้นในอนาคต สุดท้ายเขาจะรู้สึกสบายใจ เพราะความคิดของเขาเปิดกว้างยอมรับและเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ต้องทำ

ในทางตรงกันข้าม คนประเภทที่สอง เลือกที่จะพยายามคงอยู่ใน Comfort Zone แสนสบาย ของตัวเองให้ได้ตราบนานเท่านาน แต่โลกไม่ได้หยุดรอเขา จนถึงที่สุดเขาก็ต้องเปลี่ยนแปลงเพราะตามโลกไม่ทัน เขาจะรู้สึกอึดอัดลำบากใจ เพราะความคิดแบบปิด มองว่าการเปลี่ยนแปลงทำให้เขาต้องลำบาก ทำให้เขาถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลง

ดังนั้นคนเราจึงควรสังเกตตัวเองและโลกอยู่ตลอดว่า ตอนนี้เราอยู่จุดไหน แล้วจุดต่อไปคืออะไร จะได้เตรียมตัวรับมือให้พร้อม และเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยไม่ต้องรอให้ใครมาบอก เพราะชีวิตของเรา เราควรเป็นคนกำหนดของเราเองว่าจะเดินหน้าไปทางไหน

การเปลี่ยนแปลงบางครั้ง ยากลำบาก และใช้เวลานาน ผู้ที่กล้าและจิตใจเข้มแข็งมากพอเท่านั้นจึงจะทำสำเร็จได้ เรื่องแบบนี้ ต้องฝึกฝนกันอย่างจริงจัง ฝึกฝนที่จะมองโลกให้เห็นจริงจนเกิดปัญญา ฝึกฝนที่จะเอาชนะใจตัวเอง บังคับตัวเองให้ทำในสิ่งที่ถูกที่ควร

อีกวิธีคิดที่ทำให้ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ยาก อยู่ในกลุ่มมนุษย์ผู้ฝักใฝ่ความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist)

ผู้ที่ฝักใฝ่ความสมบูรณ์แบบมักเชื่อว่า ทุกอย่างที่ฉันทำ จะต้องออกมาสมบูรณ์แบบ ถ้าจะเริ่มทำอะไรแล้วออกมาไม่ดี ไม่สมบูรณ์แบบ ก็อย่าทำมันตั้งแต่ต้นเลยดีกว่า

แต่ความจริงแล้ว ความสมบูรณ์แบบนั้นไม่มีอยู่จริง ทุกอย่างมันมีการพัฒนาต่อไปได้ไม่สิ้นสุด เมื่อคุณเดินถึงจุด A คุณก็จะมองเห็นจุด B และเริ่มออกเดินทางจนถึงจุด B และเมื่อนั้นคุณก็จะพบว่ามีจุด C ให้เดินต่อไป ที่จะหยุดไม่ใช่เป้าหมาย แต่คือเท้าที่ใช้เดินต่างหาก

ทุกอย่างมันมีการพัฒนาอยู่ตลอด กรอบความคิดต่างหากที่ทำให้คนรู้สึกว่าสิ่งใดๆ มีจุดสิ้นสุดของมัน

ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลเลยที่จะหวังผลลัพธ์ที่สมบูรณ์ เปลี่ยนไปถามตัวเองว่า นี่คือสิ่งที่ดี และเป็นสิ่งที่ฉันต้องทำจริงๆ หรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้เลยก็ได้นะ ก่อนที่โอกาสและไฟแห่งความหวังจะมอดดับลง

เรื่องของการเปลี่ยนแปลงนี้สุดท้ายขั้นตอนที่ยากไม่ใช่การหาว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรดี แต่มันคือการลงมือทำที่สม่ำเสมอ จนไปถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

ประวัติศาสตร์มีบันทึก หนังสือก็มีมากมายให้ศึกษา ว่าทำอย่างไรจึงจะมีชีวิตที่ดี แล้วคนส่วนใหญ่ก็รู้ว่าควรจะดำเนินชีวิตอย่างไรจึงจะไปถึงเป้าหมายที่เขาต้องการ เพียงแต่ว่าเวลาที่ลงมือจริงนี่ซิคือสิ่งที่จะวัดว่าสุดท้ายใครจะทำสำเร็จหรือไม่ มีเข็มทิศแล้ว ก็ต้องออกเดินทางด้วย จึงจะไปถึงเป้าหมายได้

เห็นว่าอะไรดี วางแผน และลงมือทำไปเลย โอกาสผ่านเข้ามาแล้วไม่เคยหวนกลับมา


กับดักที่ 5 : กับดักการเรียนรู้ – ความผิดพลาด และทำไมเราถึงเข้าใจผิดหมด

สุภาษิตที่ว่า ผิดเป็นครู นั้นเป็นจริงอย่างยิ่งในเรื่องการเรียนรู้ เพราะบทเรียนที่ดีที่สุดล้วนเกิดขึ้นจากความผิดพลาด

คนเราเมื่อผิดพลาดแล้ว ต้องพิจารณาถึงปัญหา ข้อพกพร่อง สาเหตุที่ทำให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นด้วย เพราะนำมาคิด วิเคราะห์ ว่าเหตุใดจึงได้พลาด แล้วจะต้องทำอย่างไร จึงจะไม่พลาดในเรื่องนั้นเอง

โชคร้ายที่การปกปิดความผิด ข้อพกพร่องของตัวเอง เป็นสัญชาติฐานพื้นฐานของมนุษย์ เพื่อการเอาตัวรอด เพื่อที่เราจะไม่ถูกสังคมทอดทิ้งจากการเห็นว่าเราเป็นตัวปัญหา ทำให้ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นบทเรียน

เราควรเปลี่ยนมุมมองต่อความผิดพลาดเสียใหม่ เพราะความผิดพลาดนั้นเป็นเรื่องปรกติ ทุกคนไม่ว่าใครก็ต้องเคยผิดพลาดทั้งนั้น แต่ผู้ที่ชนะ เมื่อพลาดแล้ว เขาจะลุก ลุกขึ้นมาคิดทบทวน ลุกขึ้นมาเดินต่อ จนกระทั่งในที่สุดก็ไปถึงเป้าหมาย

เชื่อเถอะว่า สังคมทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว ผู้คนเรียนรู้ที่จะเปิดใจเรียนรู้จากความผิดพลาดกันมากขึ้น เพราะเขาเห็นตัวอย่างแย่ๆ จากการปกปิดความผิดพลาด และไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุมามากแล้ว

ถ้าคิดจะก้าวหน้าอย่างมั่นคง มันไม่มีเหตุผลที่ดีเลยที่จะปกปิดความผิดพลาด เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของตน หากคุณปกปิดมัน แล้วถูกเปิดพบในภายหลังเข้าจะยิ่งลำบาก สู้เปิดอกสู้ข้อผิดพลาด ยอมรับ พิจารณา ชี้แจงออกไป และดำเนินการแก้ปัญหาทันที แบบนี้ซิภาพลักษณ์ของนักพัฒนาตัวจริง

ชัยชนะเริ่มต้นตั้งแต่ได้เริ่มออกเดินทางแล้ว ส่วนความสำเร็จเป็นเพียงผลพลอยได้จากการออกเดินทาง จงให้คุณค่ากับพยายามไม่น้อยไปกว่าการบรรลุถึงเป้าหมาย

อย่าไปอายว่าเราไม่มีอะไรเหมือนคนอื่น เราไม่จำเป็นต้องไปแข่ง ไปเปรียบเทียบตัวเองกับใครให้รู้สึกด้อยค่า พิจารณา หาเป้าหมายของตัวเองให้เจอ แล้วพุ่งทะยานไปข้างหน้า อย่ามัวรีรอ

อย่าหยุดเรียนรู้ อย่าหยุดพัฒนาตัวเอง

Work and Life Principles: Ray Dalio

กับดักที่ 6 : กับดักอาชีพการงาน – ปักหลักหรือหมดความหลงไหลและแรงจูงใจในงานอาชีพของคุณ

ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน ก็จริงส่วนหนึ่ง ส่วนงานจะออกมาดีได้ก็ต่อเมื่อเราได้ทำงานที่ทำแล้วมีคุณค่า มีความสุข

งานที่ง่าย งานที่ยาก กับงานที่ทำแล้วมีความสุข เป็นคนละเรื่องกัน งานที่มีความสุข คืองานที่ทำให้เรารู้สึก ไม่อยากอยู่บ้านแล้ว อยากออกไปทำงานจังเลยเว้ย อยากเข้าไปแก้ปัญหา รู้สึกสนุกและมีความสุขทุกครั้งที่แก้ปัญหาลุล่วง ได้กลับบ้านพร้อมกับความอิ่มเอิบใจ

เรื่องเศร้ามีอยู่ว่า คนจำนวนมากทุกวันนี้ทำงานเหมือนงานเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เราทำงานเพียงเพราะเรามีภาระ เราต้องพึ่งพารายได้จากงานที่ทำ แต่งานไม่ได้เติมเต็มความฝันของเราเลย

เมื่อเราทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ทำงานที่เรารู้สึกไม่ผูกพัน เราก็จะขาดความหลงไหลในตัวงาน และทำให้เราไม่สามารถใช้ศักยภาพ ใช้ความสามารถได้อย่างเต็มที่ มองดูซิว่า องค์กรไหนมีวัฒนธรรมในองค์กรเป็นยังไง มันก็เป็นภาพส่องออกมาจากคนในองค์กรนั่นล่ะ

ความจริงถ้าเรามีทักษะ รู้จักพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด โอกาสในการหางานที่ดีย่อมมีอยู่เสมอ แต่หลายคนก็ดันติดกับดักเปลี่ยนแปลง รักสบายอยู่ใน Comfort Zone อีก คิดว่างานที่ทำอยู่ก็ดีอยู่แล้ว รู้สึกไม่อยากดิ้นรน ไม่อยากลำบากเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ซึ่งนั่นเป็นความเสี่ยงอย่างมากในโลกยุคนี้ที่เคลื่อนตัวเร็วมาก เร็วซะจนผมกล้ารับรองเลยว่าอีกไม่นาน พวกคนที่ไม่เปลี่ยนแปลงจะต้องตกงานกันขนานใหญ่ เพราะไม่พัฒนาทักษะให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป

เดี๋ยวนี้มันไม่มีแล้ว งานที่มั่นคง จะทำมันทั้งชีวิตตั้งแต่เรียนจบยันเกษียณอายุ อาชีพที่มั่นคงมันไม่มีแล้ว ทักษะของคุณเท่านั้นที่จะทำให้ชีวิตของคุณมั่นคง

ในหนังสือได้แนะนำวิธีการวัดเรื่องอาชีพที่เราทำใน 4 มิติ ได้แก่ การเงิน แนวคิด ความหลงไหล และเป้าหมาย

มิติแรก เรื่องการเงินนั้นเป็นปัจจัยแรกๆ อยู่แล้วที่เราเลือกมาทำงาน บริษัทควรจะจ่ายค่าตอบแทนให้เราอยากยุติธรรม หากบริษัทจ่ายมากไปกว่าที่เราคิด เราอาจจะสบาย แต่ข้างในลึกๆ แล้ว โดยสามัญสำนึกเราควรจะรู้สึกด้อยค่า แต่นั่นไม่ค่อยจะเป็นปัญหา ปัญหาคือคนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าเราได้รับน้อยกว่าที่เราคิด

ถ้าได้น้อยกว่าที่คิดไว้ ก็ต้องมาพิจารณาดูซิว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ลองหันดูพฤติกรรมตัวเอง ลองหันดูผลงานที่ได้ทำ ว่ามีมูลค่าขนาดไหน ถ้าพิจารณาดูอย่างดีแล้วว่าเราสมควรได้มากกว่านี้จริงๆ ก็ควรไปพูดคุย จี้แจง ถ้าได้ลองทำดูแล้วไม่สำเร็จ แล้วไม่พอใจในคำตอบ ก็อาจถือว่ามิตินี้ไม่ผ่าน

อย่าคิดย้ายงานเพราะคิดไปเองว่าฉันควรได้เยอะกว่านี้โดยเด็ดขาด เพราะต่อให้ย้ายไปแล้วได้เงินขึ้นมา แต่ทักษะไม่ถึง สุดท้ายก็จะสร้างปัญหาในอีกรูปแบบ คุณจะดูเหมือนเป็นตัวถ่วงขององค์กร ซึ่งไม่ดีต่อสภาพจิตใจอย่างยิ่ง ควรปรึกษาผู้มีประสบการณ์จริงในสายงานก่อนตัดสินใจย้ายงานเพราะเรื่องเงิน

บางทีเราอาจต้องพิจารณาการเรียนรู้เข้ามาเป็นปัจจัยถ่วงเรื่องเงินด้วยเช่นกัน งานบางอย่างเป็นทักษะเฉพาะหาเรียนรู้ได้จากงานจริงเท่านั้น แต่เป็นทักษะที่มีค่าสูงมากในอนาคต ตัวคุณไม่มีประสบการณ์ เขารับเข้ามา คุณมีโอกาสเรียนรู้เพื่อให้มีประสบการณ์สำหรับก้าวต่อไป กรณีแบบนี้ก็ต้องลองชั่งน้ำหนักกันดู

บางทีก็ต้องเลือกงานที่ได้กล่องมากกว่าเงิน เพื่อจะได้เอากล่องที่ได้ไปเก็บเงินให้ได้มากขึ้นในภายหลัง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมาย และภาระที่ต้องรับผิดชอบของแต่ละคน

มิติที่สองเรื่องแนวคิดคุณค่าของการทำงาน คุณรู้สึกได้สร้างประโยชน์ ได้สร้างสรรค์ในงานที่ทำอยู่หรือไม่ มนุษย์เราจำเป็นต้องมีความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า จึงจะสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไปได้

มิติที่สามเรื่องความหลงไหล คุณรู้สึกผูกพันกับงานที่ทำหรือไม่ งานที่ดี ควรจะเป็นงานที่รู้สึกมีความสุขที่ได้ทำ รู้สึกถึงความรับผิดชอบ และคุณค่าของเราที่มีต่องาน เพื่อให้สามารถก้าวขึ้นต่อไปได้ มันไม่ควรจะเป็นงานที่เรารู้สึกว่าแค่ ก็ทำให้มันเสร็จไป ความหลงไหลในเนื้องานจะต้องมี

มิติที่สี่เรื่องเป้าหมายในงานที่ทำ มันจะมาในรูปของความสำเร็จและความภูมิใจในตัวงาน คุณรู้สึกว่าอยากจะให้ผู้คนจดจำคุณเป็นอย่างไรในงานที่คุณทำ คุณทำมันได้หรือไม่ และรู้สึกว่างานที่ทำตรงกับเป้าหมายชีวิตที่มุ่งหวังเอาไว้หรือไม่

มิติเรื่องทั้ง 4 ที่ว่ามานี้ ถ้ามีด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายด้าน ไม่ตอบโจทย์ ให้พยายามลองเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ลองปรับมุมมองให้เห็นโลกตามความเป็นจริง ลองพยายามทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ถ้าลองพยายามทำเต็มที่แล้ว ผ่านไปหลายไตรมาสแล้ว พบว่าไม่มีอะไรดีขึ้นเลยจริงๆ ก็ถึงเวลาพิจารณาย้ายที่ทำงานใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ทั้ง 4 มิตินี้ได้ ก่อนจะย้าย สำรวจให้ดีด้วยว่ามันจะตอบโจทย์เราจริงๆ ทำการบ้านให้ดีก่อนเคลื่อนตัว

เวลาย้ายงานอย่าเผาสะพานตัดความสัมพันธ์ โลกนี้อาจดูใหญ่ แต่โลกในวงการที่คุณอยู่อาจแคบมาก ไม่มีใครอยากรับคน Mindset ไม่ดีเข้าทำงาน นายจ้างที่ฉลาดจะรู้ว่า ทักษะพัฒนากันได้ไม่ยาก แต่มุมมองทัศนคติต่อการทำงานเนี่ย ยากจะพัฒนาเปลี่ยนแปลง และไม่มีใครมาแคร์สักเท่าไหร่หรอกว่าคุณจะเป็นยังไง

สุดท้ายอย่ามัวยึดตัวเองอยู่กับงานที่ทำแล้วไม่มีความสุข เวลาชีวิตนั้นมีจำกัด เราใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปกับการทำงาน ถ้างานที่เราทำมีความสุข ค่าเฉลี่ยนความสุขของชีวิตของเราจะเป็นบวกโดยไม่ต้องแปลกใจ

ขอเพียงแค่คุณมีทักษะที่เป็นที่ต้องการ ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ก็มีงานดีๆ พร้อมเข้ามาให้เลือกอย่างไม่ขาดสายอย่างแน่นอน!


กับดักที่ 7 : กับดักเป้าหมาย – การสะสมหรือการหลอกลวงขั้นสูงสุดที่เราไม่รู้ จนกระทั่งถึงจุดจบ

มนุษย์เราแสวงหาความสุขอย่างต่อเนื่อง เรามีจิตที่ชอบสะสม สังคมตีความเชื่อว่าการได้ครอบครองสิ่งของ การได้บริโภค จะทำให้เราดูมีคุณค่าต่อสังคมมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น แต่ความสุขเหล่านั้นเป็นเพียงความสุขชั่วครู่ ยิ่งเวลาผ่านไป ยิ่งต้องหาสิ่งของที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

เกิดเป็นสังคมของการบริโภคแข่งกัน อวดรวย อวดกันกิน อวดกันใช้ ราวกับว่าใครมีข้าวของมากที่สุด ใครมีชีวิตที่ดูคูลที่สุดจะเป็นผู้ชนะ

แต่หารู้ไม่ว่านั่นมันแค่เปลือกหน้า เบื้อหลังเขาต้องเอาเวลา เอาชีวิต เอาความรู้สึกดีๆ ไปแลกกับความสุขเพียงชั่วครู่ มาอวดให้คนได้อิจฉากัน

เพื่อที่จะมีความสุขอย่างมีคุณภาพ เราจำเป็นต้องแบ่งประเภทของความสุขให้ออกก่อน มีทฤษฎีเกี่ยวกับความสุข ได้แบ่งความสุขออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 1 ความสุขจากการได้เสพ ได้ครอบครอง ความสุขนี้เกิดขึ้นเมื่อเราได้รับการตอบสนองที่พึงพอใจทางร่างกาย ทางด้านอารมณ์ ตัวอย่างเช่นการฟังเพลง การเล่นเกม การได้สิ่งของใหม่ๆ ที่ปรารถนา แต่ความสุขในระดับนี้ ไม่ยั่งยืน ผู้ได้รับความสุขจะรู้สึกถึงสุขเพียงชั่วครู่ ในเวลาไม่นานความสุขก็จะจากไป ให้นึกถึงภาพเด็กที่ตื่นเต้นได้ของเล่นใหม่ แรกเริ่มก็สนุกเล่นทุกวัน แล้วต่อมาไม่นานก็รู้สึกเบื่อ

ระดับที่ 2 ความสุขที่เกิดการเห็นคุณค่าในตัวเอง การได้ทำสิ่งที่มีเป้าหมาย การได้มีประโยชน์ต่อสังคม ความสุขระดับนี้เกิดขึ้นเมื่อได้ใช้ความสามารถของตนทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จ การได้ออกไปช่วยเหลือคนอื่นให้สำเร็จ การได้เป็นที่รัก เป็นที่ต้องการของผู้อื่น ซึ่งผู้รับความสุขจะอิ่มเอิบกับความรู้สึกที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น รู้สึกถึงความเคารพในตนเองและผู้อื่น จะกล่าวว่าความสุขประเภทนี้คือการได้รับการยอมรับจากสังคมภายนอกก็ไม่ผิดนัก

ระดับที่ 3 ความสุขจากการเข้าใจถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่ การเข้าใจและการได้ใช้ชีวิตในแบบที่เป็นตัวเองอย่างแท้จริง ความสุขระดับนี้คือการเกิดปัญญามองเห็นโลกตามความเป็นจริง แบ่งแยกได้แล้วว่า แท้จริงแล้ว อะไรคือสิ่งที่ตนต้องการ อะไรที่ตนไม่ต้องการ สามารถตัด ปล่อยวางตัดภาระจากสิ่งที่ไม่ต้องการได้ และมุ่งเน้นทำสิ่งที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง มันคือระดับที่สามารถตอบได้ว่า แท้จริงแล้วตนเองเกิดขึ้นมาทำไม เข้าใจตัวเอง มีเป้าหมายชัด และปฏิบัติตามที่ตั้งใจ ความสุขประเภทนี้เกิดขึ้นจากการมีปัญญาการเข้าใจตัวเอง จึงเป็นความสุขที่ยั่งยืนและเกาะติดตัวเราไปทุกหนแห่ง ความสุขที่แท้จริงมิได้เกิดขึ้นจากภายนอก แต่เกิดขึ้นจากภายในตัวของเราเอง มันอยู่ที่วิธีคิด มุมมอง ว่าจะมีชีวิตอย่างไรจึงจะมีความสุข เมื่อไหร่ที่รู้สึกเบา สบายใจ ไม่ต้องกังวล นั่นล่ะความสุข

ดังนั้นอาจพิจารณาให้ดีแล้ว ความสุขที่แท้จริงเกิดจากการให้บริการ และการช่วยเหลืออย่างมีความหมาย การสร้างความสัมพันธ์อย่างถาวร ไปจนถึงความเข้าใจตนเอง ความได้เป็นตัวของตัวเอง ทรัพย์สมบัติเป็นเพียงส่วนประกอบของการดำเนินชีวิต มีความสัมคัญน้อยกว่าความสัมพันธ์ต่อเพื่อนมนุษย์

ทุกวันนี้ผู้คนครอบครองสิ่งของกันมากเกินไปจนเป็นทุกข์ เราเสียเงินเพื่อซื้อที่เก็บของที่ไม่จำเป็น ในหนังสือได้แนะนำให้เราฝึกพิจารณาถึงสิ่งของที่เราครอบครองอยู่ มีอะไรบ้างจำเป็นต้องใช้จริงๆ แล้วมีอะไรที่ไม่จำเป็นแล้วเรามีอยู่บ้าง ให้ลองจำลองสถาการณ์ว่าเรากำลังจะย้ายบ้านข้ามประเทศ ค่าขนส่งแพงมาก อะไรบ้างที่เราจะขนไปด้วย อะไรบ้างที่เราจะทิ้งไว้เบื้องหลัง แล้วเริ่มทำการบริจาคสิ่งเหล่านั้นออกไปซะ

นอกจากนั้นยังควรเน้นเรื่องความสัมพันธ์ต่อมนุษย์ให้มาก โดยสัญชาติญาณของมนุษย์แล้ว ทุกคนเป็นสัตว์สังคม พวกเรารักพวกพ้อง และสิ่งนี้เป็นสัญชาติญาณที่ดี ที่ทำให้เผ่าพันธุ์ของเราอยู่รอดขึ้นมาถึงจุดนี้ได้

ความสัมพันธ์ที่ดีและมีความหมาย ไม่เคยทำร้ายให้ใครเจ็บปวด มีแต่จะส่งเสริม ช่วยเหลือ ให้เราได้ไปถึงเป้าหมายได้อย่างมั่นคง จงมองหา และพัฒนา ความสัมพันธ์ที่มีความหมายต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ส่วนความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ที่มีปัญหา ก็พิจารณาให้ดีเถิดว่า มีประโยชน์อะไรที่เราจะต้องเป็นศัตรู ไม่ถูกกับใคร วางอีโก้ วางความเป็นตัวตนของตัวเองลง เริ่มซ่อมแซมความสัมพันธ์ที่มีปัญหา เข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจ แก้ปัญหาปรับทุกข์ เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้กลับมาดี

เราไม่จำเป็นต้องเป็นที่รักของทุกคน แต่เราก็ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นที่รักของทุกคนที่มีความหมายต่อชีวิตของเรา ใครคือคนที่นำความสุขมาให้ฉันได้มากที่สุด ฉันใช้เวลาอยู่กับพวกเขามากแค่ไหน

สิ่งสุดท้ายที่หนังสือได้แนะนำเอาไว้คือการพิจารณาความทรงจำที่มีในชีวิต ความทรงจำมีคุณค่า ลองดูว่าความทรงจำไหนฝังอยู่ในตัวเรา ความทรงจำไหนมีคุณค่ามากที่สุด ถามตัวเองดูซิว่า ได้ใช้ชีวิตเพื่อสร้างความทรางจำเหล่านั้นอยู่หรือไม่ แล้วจะต้องปรับการใช้ชีวิตอย่างไรบ้างเพื่อที่จะสร้างความทรงจำแบบนั้นให้มากยิ่งขึ้น

หาให้เจอว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตของคุณ แล้วจงใช้ชีวิตในแบบที่คุณอยากจะให้มันเป็นจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่วิ่งตามความสุขในแบบที่คนอื่นมาขีดเส้นเอาไว้ให้

The Jack Sparrow’s Compass – Pirates of the Caribbean

สำหรับในส่วนของเนื้อหาก็ได้จบลงไปแล้วนะครับ ต้องขอขอบคุณผู้เขียน ผู้ที่แปล และแมวน้อยที่เอาหนังสือเล่มนี้มาให้ผมอ่านในวันที่แทบจะเรียกได้ว่าผมสิ้นหวังในชีวิตเอามากๆ ช่วยเตือนสติ ช่วยเติมพลัง ทำให้ผมได้ปรับวิธีการคิดให้เข้าที่เข้าทาง และผมก็หวังอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านก็น่าจะได้เกิดความคิด เกิดไอเดียดีๆ ด้วยเช่นกันนะครับ

สุดท้ายนี้ต้องขออภัยที่ใส่สีตีไข่ประสบการณ์ตัวเองลงไปในบทความมากพอสมควร เพราะผมตกผลึกความคิดออกมาจากชีวิตจริงมาสู่เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ได้เยอะมากจริงๆ ท่านผู้อ่านท่านใดมีคำแนะนำ คำติชม หรืออยากพูดคุยกัน ก็สามารถพูดคุยกันได้ที่ช่องแสดงความคิดเห็นข้างล่างได้เลยนะครับ

ในบทความนี้ผมก็ขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้ ถ้าผู้อ่านรู้สึกชอบบทความ ชอบเนื้อหา อย่าลืมไปอุดหนุนซื้อหนังสือเล่มจริงมาอ่านกันด้วยนะครับ จะได้เก็บรายละเอียดที่ผมอาจจะข้ามไป และเป็นกำลังใจให้กับผู้เขียนและผู้แปลด้วยครับ ขอให้ทุกท่านมีสติและจิตใจที่แข็งแกร่งสำหรับมุ่งสู่เป้าหมายและประสบความสำเร็จด้วยกันทุกคน สำหรับวันนี้ ขอบคุณและสวัสดีครับ 🙂

Tags: , ,