เทคนิคการการดำเนินชีวิตที่ได้จากการเรียน ป.โท

วันนี้มาต่อกันอีกหนึ่งหัวข้อที่จะว่าสำคัญที่สุดก็เป็นได้ นั่นก็คือการบริการชีวิตการทำงานควบคู่กับการเรียนต่อให้มีประสิทธิภาพ อย่างที่ได้เล่าไปในเรื่อง ประสบการณ์เรียน ป.โท พร้อมทำงานไปด้วย ให้จบใน 2 ปี! ว่าชีวิตการเรียนไปทำงานไปนั้นโหดร้ายเอาการ ดังนั้นการบริหารเวลาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เพราะเรามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากันทุกคน แต่ภาระหน้าที่มากกว่าคนอื่น จึงมีความจำเป็นต้องใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำงานตลอดเวลางานจะได้เสร็จเร็วๆ แต่หมายถึงการรักษาสมดุลระหว่าง  3 สิ่ง ได้แก่ หน้าที่การงาน (รวมถึงเรื่องเรียน) ความสัมพันธ์ (ทั้งครอบครัวและแฟน) และสุดท้ายที่สำคัญที่สุดก็คือตัวเอง ก็มีอยู่หลายประเด็นที่จะต้องพิจารณา ว่าแล้วก็มาลุยกันเลยดีกว่า

มีสติอยู่ตลอด

สติคือการรู้ตัวว่าตัวเองทำอะไรอยู่ ณ ปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการดำเนินชีวิตของคน แต่คนส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ค่อยมีสติกันสักเท่าไหร่ ในทางพุทธศาสนาแล้วสติถือเป็นสิ่งแรกที่จำเป็นจะต้องมีเพื่อให้เกิดสมาธิและปัญญา ดังนั้นก่อนที่จะวางเงื่อนไขต่างๆ ในการทำงานและบังคับตัวเองให้ทำอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ได้ เราจึงต้องมีสตินั่นเอง พอรู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ ประเมินสิ่งที่ทำอยู่ว่ามันเข้าท่าหรือไม่เรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มปฎิบัติตามแผนที่วางเอาไว้

เลือกทำเฉพาะสิ่งที่จำเป็น

ใน 1 วัน คนเรามีงานต้องทำมากมายหลายอย่าง งานมันทำไม่หมดไม่สิ้น เพราะมันงอกได้เร็วซะยิ่งกว่าต้นถั่วงอก ดังนั้นให้เลือกทำงานเฉพาะเท่าที่จำเป็น เลือกงานที่ตรงกับเป้าหมายชีวิตของเรา

แต่ก่อนผมก็เป็นคนที่ชอบทำงานเกินคำสั่ง เช่นสั่งการบ้านให้เขียนโปรแกรมบลาๆ ก็ดันคึกอย่างโชว์ของทำเกินคำสั่ง ใช้เวลาเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่าตัวทั้งๆ ที่ควรจะทำเสร็จไปตั้งนานแล้ว

แบบนี้ต้องคำนวณกันดีๆ ว่ามันคุ้มค่ากันไหมและคนสั่งงานเป็นใคร ถ้าคนสั่งงานเราเป็นคนรอบคอบคิดมาดีแล้วว่าทำเท่าที่สั่งก็พอ ก็ทำเท่านั้นก็พอ ทำมากกว่านั้นก็ไม่เกิดประโยชน์แล้วล่ะ แต่ถ้าคนที่สั่งเราเป็นเจ้านายที่มีวิสัยทัศน์ที่ดี แบบนี้ก็อาจจะคุ้มที่ทำเกินคำสั่ง แต่ต้องเป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้องนะ ความเป็น Perfectionist มีข้อดีและข้อเสีย ต้องเลือกใช้ให้ถูกเวลา

รักษาสมดลทั้งสามให้ดีอยู่เสมอ

อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นว่าเราต้องรักษาสมดุลระหว่างการงาน ความสัมพันธ์ และตัวเอง สิ่งเหล่านี้สำคัญอย่างไร แต่ละคนจะมีจริตชอบรักษาสมดลแบบเบ้ๆ ต่างกันไป แต่สุดท้ายก็ต้องมีทั้งสามอย่างอยู่ดี

การงานก็คือการเลือกใช้เวลาไปกับการทำงาน นั่นคือการทำงานนั่นเอง แน่นอนก็ต้องได้งาน

ต่อมาเป็นการใช้เวลากับความสัมพันธ์ อันนี้ก็คือการรักษาความสัมพันธ์กับคนอื่นไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน และแฟน ซึ่งบางคนอาจเห็นว่าไม่สำคัญ (อย่างน้อยผมก็เคยคิดอย่างนั้น) แต่ความจริงแล้วมีประโยชน์อย่างยิ่งเลย เพราะการมีมิตรดีๆ ช่วยให้การฝ่าฟันอุปสรรคยากๆ ที่ไม่น่าจะผ่านไปได้ กลับกลายเป็นทำได้ซะอย่างงั้น (ธีมเดียวกับการ์ตูนญี่ปุ่นสมัยนี้ พลังแห่งเพื่อน แต่การ์ตูนมันก็เวอร์ไป)

สุดท้ายคือการทำเพื่อตัวเอง สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ร่างกายก็เหมือนเครื่องจักร ซึ่งมีการบำรุงรักษา การฟิตให้แข็งแรง ถ้าร่างกายไม่ฟิต เราก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นจึงต้องดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วย ลองคิดดูว่าถ้าเกิดเหตุต้องไปตากฝน แล้วก็ละเลยไม่กินยา ปรากฏว่าต้องนอนป่วยไป 2 วัน คิดถึงเวลาที่เสียไปนั่นทำอะไรได้ตั้งเท่าไหร่แล้วจริงไหมล่ะ นอกจากสุขภาพกายแล้วก็ยังมีสุขภาพใจด้วย เวลาทำอะไรสำเร็จก็ต้องรู้จักขอบคุณตัวเองบ้าง พาตัวเองไปทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบบ้าง มันจะได้มีกำลังใจในการก้าวหน้าต่อไป

เลือกทำสิ่งต่างๆ ตามเวลาที่เหมาะสม

ในหนึ่งวันสภาพร่างกายและจิตใจในแต่ละช่วงก็ต่างกันออกไป ให้เลือกทำกิจกรรมให้เหมาะสมกับสภาพดังกล่าวเสมอ และถ้ารู้สึกว่ากิจกรรมที่ทำอยู่ทำได้ไม่มีประสิทธิภาพก็ไม่ควรเสียเวลาทำต่อ

ยกตัวอย่างเช่น ตอนกลางคืนหลังจากที่เหน็ดเหนื่อยมาจากการทำงานสมงสมองไปหมด ก็ไม่ควรเอามาอ่านหนังสือเพราะอ่านไปมันก็ไม่เข้าสมอง อาจจะเลือกกิจกรรมการพูดคุยกับผู้อื่นในหัวข้อที่ไม่ต้องคิดอะไรมากเพื่อรักษาความสัมพันธ์ หรือทำกิจกรรมที่โปรดปราน เช่น เล่นเกม (ที่เราชนะ) สักหน่อย เพื่อเป็นการให้กำลังใจตัวเอง หรือไม่อย่างงั้นก็นอนไปเลยแล้วค่อยตื่นมาทำสิ่งที่ต้องทำในตอนเช้าสมองยังแล่น

ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดว่าตอนนี้สภาพร่างกายและจิตใจเป็นอย่างไร และควรเลือกงานอะไรให้ตัวเองทำ

อีกประเด็นที่อาจจะฟังดูน่าตลกก็คือการแอบงีบในห้องเรียนหรือที่ทำงาน บางทีกินข้าวมาอิ่มๆ หนังตาก็หย่อนเป็นธรรมดา หลายๆ คนอยากรักษาฟอร์มจะไม่นอนหลับในหน้าที่ สุดท้ายเป็นซอมบี้นั่งตาปรือทำกิจกรรมอย่างไร้จุดหมาย ผมว่าถ้าจะง่วงขนาดนั้นนอนไปเลยครับ 10 นาที ช่วงเวลาแบบนั้นมันเจ๋งมากเลยนะสำหรับการนอน เพราะว่าเราสามารถนอนหลับได้ในท่าไหนก็ได้เพียงแค่หลับละ (ต้องเลือกท่าดีๆ นะไม่งั้นเดี่ยวจะเสียสุขภาพ) และช่วงเวลาที่งีบไปได้พลังงานกลับมาแบบไม่น่าเชื่อ

ดังนั้นถ้ารู้สึกว่าง่วงนอนล่ะก็ จงงีบซะตอนนั้นเลย 5-10 นาทีตื่นมาใหม่รับรองว่าสมองจะกลับมาแล่นพร้อมใช้งาน

การมีระเบียบวินัย

ระเบียบวินัยเป็นสิ่งที่หลายๆ คนขยาดจากวิชาทหาร ความเป็นจริงแล้วมันเป็นเคล็ดลับความสำเร็จในชีวิตเลยทีเดียว การปฏิบัติตัวให้มีระเบียบวินัยก็เหมือนการฝึกเอาชนะความขี้เกียจอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเราชนะมันบ่อยเราก็ยิ่งได้ใช้เวลาให้มีประโยชน์มากขึ้น

ในวันนึงควรจะมีตารางการดำเนินชีวิตคร่าวๆ วันธรรมดาทำงานอะไรยังไงแล้วพยายามปฏิบัติตามให้มากที่สุดเท่าที่จำเป็นไปได้

มีตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือเรื่องการทำงานอย่างต่อเนื่อง คืองานที่สำคัญ แต่เป็นงานที่น่าเบื่อ และเป็นงานที่ใหญ่ต้องทำนาน นี่จัดเป็นโคตรแห่งงานที่สุดแย่ หลายคนมักจะทำไม่สำเร็จ สุดท้ายก็ส่งผลร้ายต่อชีวิตในแง่ต่างๆ (ก็อย่างที่บอกว่ามันสำคัญ)

หนังสือเรื่อง Eat That Frog! เปรียบเทียบงานประเภทนี้ไว้ว่าเหมือนเป็นคางคกตัวใหญ่หน้าตาน่าเกลียด วิธีการจัดการคือ แบ่งมันเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วลุยกับมันในเวลาที่ดีที่สุด โดยเฉพาะตอนที่พลังงานกายและใจเต็มเปี่ยม อาจจะเป็นตอนตื่นนอนอันแสนสดชื่น ไม่ต้องทำให้เสร็จในครั้งเดียวครับ เป็นไปไม่ได้ แต่ทำทุกวัน ทำอย่างสม่ำเสมอ ให้เอาเทคนิค Don’t break the chain มาใช้ บอกกับตัวเองว่าจะทำงานนี้ทุกวัน วันละ 1 นาทีเป็นอย่างน้อย ทำเสร็จไปกากบาทหนึ่งอันบนกระดาษ ประเด็นแรกคือ ไม่มีใครทำงานแค่ 1 นาทีได้ ขึ้นชื่อว่าได้ลงไปจับงานแล้ว สุดท้ายเดี๋ยวมันยืดยาวมากกว่า 1 นาทีแน่นอน สุดท้ายก็จะได้งาน

ประเด็นที่สอง การทำงานแบบไม่ต่อเนื่องแบบนี้เหมาะอย่างยิ่งกับงานที่ต้องใช้ความคิดมาก เพราะจะมีหลายๆ ครั้งที่เกิดไอเดียหรือวิธีการใหม่ๆ ขึ้นจากสภาพความพร้อมของร่างกายและจิตใจ ทำให้งานเดินหน้าไปได้เร็วขึ้น และประเด็นสุดท้ายคือมันทำให้งานเสร็จได้จริง การที่เรากากบาททุกวัน มันทำให้เกิดอารมณ์ของการสะสมขึ้น เพื่อไหร่ที่กากบาทมันขาดไปจะทำให้เกิดความรู้สึกผิดกับตนเอง สุดท้ายจึงเกิดเป็นกำลังใจทำให้สามารถทำงานต่อไปได้ทุกวัน

จัดลำดับความสำคัญของงาน

ต่อเนื่องจากหัวข้อก่อนหน้า ในวันหนึ่งๆ เรามีงานต้องทำหลายอย่าง ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง ให้เอางานยาก งานที่ไม่ชอบทำ มาทำตอนที่มีแรง ทำไปสักพักจนรู้สึกว่าหมดแรงจะทำต่อละ ก็อย่าฝืนครับ หยุดทำเลยตามของการเลือกทำในสิ่งต่างๆ ในเวลาที่เหมาะสม หยิบงานอื่นขึ้นมาทำแทน

ตัวอย่างของผมก็เช่น ผมเป็นคนชอบเขียนโปรแกรม สามารถทำได้แม้กำลังแทบจะหมดสิ้นแรงแล้วก็ตาม จึงมักจะมีงานเขียนโปรแกรมสนุกๆ ให้ตัวเองทำก่อนนอนเพื่อเป็นการฝึกเขียนโปรแกรม เรียนรู้เพิ่มเติม และได้งานไปในตัว ส่วนตอนกลางวันก็ทำกิจกรรมที่ไม่ค่อยโปรดปรานไป เช่น การอ่านเปเปอร์ที่ยากและน่าเบื่อ กิจกรรมพวกนี้ต้องทำตอนสมองฟิตๆ จะได้อ่านรอบเดียวแล้วรู้เรื่องและสามารถสังเคราะห์องค์ความรู้มีใช้งานได้เลย

พอเอาทุกอย่างมีประกอบกันก็กลายเป็นว่า ตอนกลางวันก็ได้งานที่ควรทำแต่ไม่ชอบ ส่วนตอนกลางคืนก็ได้เอาไอเดียที่ได้เรียนรู้มาใช้ให้เกิดงาน กลายเป็นมีแต่ได้ตลอดทาง เพราะฉะนั้นต้องตรวจสอบตัวเองให้ดีว่ามีงานอะไรบ้างที่เราต้องทำในแต่ละวัน จัดตารางงานตามช่วงเวลาให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน

เลือกทำกิจกรรมที่ได้ประโยชน์มากกว่าหนึ่งเสมอ

เนื่องจากเวลามีจำกัด เราจึงควรเลือกทำกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ในหลายๆ ด้านเสมอ อย่างตัวอย่างก่อนหน้าที่บอกว่าผมมีความสุขในการเขียนโปรแกรม ดังนั้นถ้าผมเขียนโปรแกรมในเวลาที่เหมาะสม มันทำให้ได้ทั้งงานรวมถึงความสุขเพื่อตัวเองที่เกิดจากการเขียนโปรแกรม อีกตัวเองเช่นการเลือกระหว่างเล่นเกมกับคอมกับการไปเที่ยวห้างกับเพื่อน การเล่นเกมกับคอมจะเกิดประโยชน์ในด้านความพึงพอใจส่วนตัวอย่างเดียว แต่การออกไปเดินไร้สาระในห้างกับเพื่อนจะได้ประโยชน์เป็นการพักผ่อนที่เกิดกับตนเองและได้ความสัมพันธ์กับเพื่อนที่ไปเดินด้วยกัน อย่างไรก็ดี กิจกรรมต่างๆ ก็ต้องเลือกให้เหมาะสมตามวาระและโอกาส

บริหารความเครียดให้ดี

ความเครียดแทบจะไม่มีอะไรดีเลย แต่มันก็เครียด อันนี้ก็เข้าใจ เพราะผมก็เครียด ความเครียดเกิดขึ้นมาเพื่อนให้มนุษย์พยายามเอาตัวรอดได้จากสถาการณ์ยากลำบาก สมัยโบราณความเครียดช่วยให้มนุษย์สามารถต่อสู้หรือหนีสัตว์ร้ายในป่าได้ แต่สมัยนี้มนุษย์เครียดได้กับทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะมันมีเรื่องให้เอาตัวรอดมากเหลือเกิน ด้วยความฉลาดเลิศของมนุษย์จึงได้พาการแข่งขันที่ดุเดือดที่มีพร้อมกับความเครียดเข้ามาสู่เผ่าพันธุ์ของตัวเอง ปัญหามันอยู่ที่ว่าความเครียดน้อยไปนี่ก็ไม่ดีอีก ผมขอแบบความเครียดเป็น 4 ระดับ ดังนี้

  1. ระดับล่องลอยไร้ความเครียด ชีวิตไร้สาระ หายใจทิ้งไปวันๆ
  2. ระดับกดดัน รู้ตัวว่ามีงานต้องทำให้ทัน Deadline แต่ยังมีเวลาอีกเยอะ
  3. ระดับวิตก รู้ตัวว่าปริมาณที่ทำจะไม่ทัน Deadline แล้ว
  4. ระดับแตกตื่น เมื่อ Deadline มีกองอยู่ตรงหน้าแต่งานยังมีเป็นภูเขา หรือไม่สามารถควบคุมงานได้

ระดับความเครียดที่จะช่วยให้ชีวิตก้าวหน้าคือระดับที่ 2 และ 3 พยายามรักษาระดับความเครียดไว้ที่ระดับที่ 2 เราจะเป็นคนที่มีงานต้องทำให้เสร็จอยู่ตลอดเวลา และอาจเข้าไปถึงระดับที่ 3 บ้างเป็นครั้งคราวเพื่อฝึกรับสถาการณ์ยากลำบาก แต่ไม่ควรเลยไปถึงระดับที่ 4 เพราะจะเสียสุขภาพจิตอย่างแรง ถ้าใครชีวิตส่วนใหญ่มีความเครียดอยู่ระดับที่ 1 ผมก็แนะนำว่าควรหากิจกรรมที่มีสาระให้ตัวเองทำบ้าง แต่ถ้าใครอยู่ระหว่าง 3-4 ตลอดเวลา ผมแนะนำว่าก็ควรจะพิจารณาวิธีการทำงานของตัวเองได้แล้ว (ฟังอีกครั้ง ผมไม่ได้บอกให้ลดงานออกไปนะ) ลองดูซิว่าเราเล่นมากไปรึเปล่า การบริหารเวลาได้ดีมากกว่านี้ไหม หรือพอจะจ่ายเงินเพื่อให้งานเสร็จได้บ้างหรือไม่ เพราะสุดท้ายทุกอย่างมันอยู่กับการบริหารทั้งสิ้น

บทสรุป

เนื่องจากเขียนเป็นหัวข้อก็เลยต้องมีบทสรุป (ซึ่งไม่รู้จะสรุปอะไร) เพราะเดี๋ยวจะไม่รู้ว่าจบแล้ว สุดท้ายก็อย่างที่บอกว่ามันอยู่กับการบริหารทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเวลา เงิน ความเครียด ความสัมพันธ์ และอื่นๆ แต่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดผมคิดว่าคือการเอาชนะใจตัวเอง

Tags: ,